Accessibility Tools

ศาลแรงงานภาค 5 (เชียงใหม่)

The Labour Court, Region V

image

ศาลแรงงานภาค 5 (เชียงใหม่)

พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรimage
image

พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
5 ธันวาคม วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
วันพ่อแห่งชาติ
          วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็น “พ่อ” ตัวอย่างของปวงชนชาวไทยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณาอย่างหาที่เปรียบมิได้
พระราชประวัติ
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระนามเดิมว่า “ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช” ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี                         ทรงเสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์น (MOUNT AUBURN) ประเทศสหรัฐอเมริกา มีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า "เล็ก"
ด้านการศึกษา
          เมื่อพระชนมายุได้ 5 พรรษา ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอี จากนั้นทรงเสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซานน์ ในปี พ.ศ. 2478 ได้ทรงเข้าศึกษาต่อที่ CEDE NOUBELLE DE LA SUES ROMANCE CHILLY ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนที่รับนักเรียนนานาชาติ ในระดับอุดมศึกษาทรงเข้าศึกษาในแผนกวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมืองโลชานน์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 ได้เสด็จนิวัตกลับประเทศไทยพร้อมด้วยพระบรมเชษฐาธิราช พระบรมราชชนนี และ              สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ
ด้านการครองราชย์
          พระองค์ได้เสด็จกลับเถลิงถวัลยราชสมบัติต่อจากพระบรมเชษฐาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ขณะมีพระชันษา 19 ปี ก่อนครองราชย์ได้ทรงศึกษาวิชาวิศวกรรมศาสตร์และได้เสด็จกลับไปศึกษาวิชานิติศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ต่ออีกภายหลังที่ได้ครองราชย์แล้วด้านพระบรมราชาภิเษก
          วันที่ 5 พฤษภาคม 2493 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณขัตติยราชประเพณี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระมหาราชวัง ในการนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ พระอัครมเหสีเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทั้งสองพระองค์มีพระราชโอรสและพระราชธิดา 4 พระองค์ ดังนี้
1. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
2. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ
3. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลนโสภาคย์
4. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ด้านพระราชกรณียกิจ
          พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ชาวไทยตลอด 70 ปี โดยพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์ คือ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารต่าง ๆ ในประเทศ ซึ่งพระราชกรณียกิจอันโดดเด่น มีดังต่อไปนี้
1. โครงการแกล้งดิน
          แกล้งดิน เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจะทำด้วยการขังน้ำไว้ในพื้นที่จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาทางเคมีจนทำให้ดินเปรี้ยวจัด เมื่อถึงที่สุดแล้วจะมีการระบายน้ำออกแล้วปรับสภาพดินด้วยปูนขาว จนกระทั่งสามารถใช้ดินในการเพาะปลูกได้
2. โครงการปลูกหญ้าแฝก
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้ทรงศึกษาเรื่องการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำจากเอกสารของธนาคารโลก ที่นาย Richard Grimshaw ได้ทูลเกล้าฯ ถวายและพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก โดยให้ทรงทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน จนปัจจุบันมีหน่วยงานกว่า 50 หน่วยงานดำเนินงานสนองพระราชดำริการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก ส่งผลให้การดำเนินงานก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ
3. โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระราชทานโครงการแพทย์หลวงพระราชทาน เมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยที่มีการจัดเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล เครื่องมือเครื่องใช้เพื่อตรวจรักษาราษฎรในถิ่นทุรกันดารโดยไม่คิดมูลค่า และอบรมหมอหมู่บ้านเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน
4. โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
          โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ได้จัดทำขึ้นตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยจัดขึ้นเป็นรูปเล่มและบางส่วนได้เผยแพร่ออนไลน์ อันรวบรวมเนื้อหาจากหลายสาขาวิชา โดยที่ฉบับปกติมีทั้งหมด 37 เล่ม และฉบับเสริมการเรียนรู้มีทั้งหมด 20 เล่ม
5. ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล ในปี พ.ศ. 2502 เพื่อให้นิสิตนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเด่น ได้มีโอกาสไปศึกษาหาความรู้ชั้นสูงในต่างประเทศและนำองค์ความรู้ที่ได้มาช่วยพัฒนาประเทศต่อไป
6. แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง : เกษตรทฤษฎีใหม่
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยเป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในขั้นต้น โดยการทำเกษตรทฤษฎีใหม่นี้แบ่งออกเป็น 3 ขั้นได้แก่ ขั้นต้น คือ การแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตรา 30-30-30-10 เพื่อขุดเป็นสระกักเก็บน้ำ 30% ปลูกข้าวในฤดูฝน 30% ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผักสมุนไพร 30% และเป็นที่อยู่อาศัยอีก 10% จากนั้นจึงเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง คือการให้เกษตรกรรวมกันในรูปแบบของกลุ่มสหกรณ์ เพื่อดำเนินการในด้านการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา จากนั้นจึงเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม คือการติดต่อประสานงาน จัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ลงทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป
7. โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโครงการอันหลากหลายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ โครงการแบบไม่ใช่ธุรกิจ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรและโครงการกึ่งธุรกิจ อาทิ โรงโคนมสวนจิตรลดา, โรงนมผงสวนดุสิต, น้ำผึ้งสวนจิตรลดา เป็นต้น
8. โครงการฝนหลวง
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริส่วนพระองค์ในเรื่องการจัดทำฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในการเกษตร โดยมีการค้นคว้าทดลองปฏิบัติการฝนหลวงขึ้น ซึ่งจะใช้สารเคมีโปรยในท้องฟ้าจนกระทั่งไอน้ำอิ่มตัวและกลั่นตัวออกมากลายเป็นเม็ดฝน
9. กังหันน้ำชัยพัฒนา
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการวิจัย และพัฒนากังหันน้ำชัยพัฒนาขึ้น เพื่อบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ ทำให้น้ำเสียกลายเป็นน้ำดี และสามารถประยุกต์ใช้ในการอุปโภคบริโภคของประชาชน น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และเพิ่มออกซิเจนให้บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางการเกษตร